วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาษาพาเพลิน ตอน Break a leg



สมัยก่อนที่ผมสอนหนังสืออยู่ มีนักศึกษาเวียดนามส่งอีเมล์มาขอขาดเรียน (ก็ขอลานั่นแหละ) โดยบอกว่าจะบินกลับไปสัมภาษณ์งานตำแหน่ง System Analyst ที่ธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม พอผมอ่านเมลล์จบ ก็ไม่ได้ตอบอะไรยืดยาว ไม่ใช่อะไร กำลังวุ่นวายกับเกมส์ Pungya อยู่ ก็ตอบไปแค่ Break a leg! ไม่มี ว.2 ตอบกลับมา ก็นึกว่า เออ มันคงเข้าใจแหละ

อีก 1 อาทิตย์ถัดมา ก็เจอกันในห้องเรียน ยังไม่ทันได้เริ่มสอน พี่ทั่นก็เข้ามาถามเป็นภาษาไทยที่ไม่ค่อยชัด อาจาง เบร๊ก อะ เล๊ก มาง แปลว่า อารัย คับ (ถามเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ป่ะครับคุณลูกศิษย์) ..

และนี่คือคำอธิบายครับ
Break a leg, มันเป็น Idiom ที่ใช้แทนคำว่า Good luck ครับ ..คงไม่มีใครถามผมนะว่า อาจาง กูก ล๊าก แปลว่าอารัย

ที่มาที่ไปมันไม่แน่ชัดครับ ผมได้สอบถามจากเพื่อนๆ หลายคน ว่ามันมีที่มาอย่างไร ไม่มีใครรู้สักคน ไปได้คำตอบจากเพื่อนคนหนึ่งเป็นเกาหลี สัญชาติ อเมริกัน ชื่อ Stephen Ho เดี๋ยวขอแวะนอกเรื่อง นินทาเพื่อนสักนิดหนึ่งก่อน คุณโฮมันทำงานอยู่ Pentagon(กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ) รู้แทบจะทุกเรื่อง ถามอะไรมันก็รู้หมด แถมรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยดีกว่าคนไทย มันมาเมืองไทย แล้วพาผมไปเดินสยาม ยังคุยว่า Siam Square is like my back hand (แปลว่า คุ้นเคยกับสยามสแควร์ดีทุกซอกทุกมุม) แล้วที่ชอบที่ชอบของแกก็คือ Chicken farm มาที่ไรอยากไปดูแต่ฟาร์มไก่ เดือดร้อนผมต้องขับรถพามันวนดูฟาร์มไก่ ที่ ถ.เพชรบุรี ตั้งหลายรอบ ก่อนจะปล่อยมันลงไปเดินชมฟาร์มด้วยตัวเอง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง พามันไปกิน Seafood ที่สีลม พอจะกลับคาดว่าเขาคงเห็นแสงสีแถวๆซอย 4 มันล่อตาล่อใจ ก็เลยบอกให้ผมกลับไปก่อน เขาอยากเดินเที่ยว ผมก็ปล่อยสิครับ ... เช้าวันถัดมาเจอกันมันบอกว่า "Woooh, Mickey you didn't tell me!! ... เออ ก็กรูเห็นเมิงรู้ทุกอย่างนี่หว่า นึกว่า Silom is like your back hand too!! lol. (มันไม่รู้ว่าแถวนั้นมีแต่บาร์เกย์กับโชว์กระเทยเต้นอโกโก้)



ที่มาที่ไปของ Berak a leg เจ้าเพื่อนผมมันบอกว่า ในหมู่นักดนตรี นักแสดง และคณะละครเวที เขาจะไม่อวยพรกันว่า Goodluck เพราะเชื่อกันว่ามันจะกลายเป็น Bad luck ทำให้แสดงไม่ดี เล่นไม่ออก หรือเกิดอุบัติเหตุจากการแสดงได้ (ผมนึกถึงนักกีต้าร์คนหนึ่งเอาลิ้นตัวเองไป lick guitar ไฟดูดตายเลย, 555) เขาจึงพูดให้ตรงข้าม คือแช่งให้ขาหักเสียเลย เนืองจากในยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู การแสดงมักจะผาดโผน เช่นการห้อยเชือกโรยตัวมาจากบนเพดาน หรือพระเอกนางเอกนั่งชิงช้าสูงๆ คุยกันเป็นต้น ซึ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุมันมักจะทำให้ขาหัก การอวยพรแบบแก้เคล็ด จึงอวยพรให้ขาหัก ไม่ใช่คอหัก ..อิอิ 

อย่างไรก็ตาม ในภาษาเยอรมัน เขาก็อวยพรแบบนี้เหมือนกัน แต่เขาอวยพรให้หักทั้งขาและคอเลย (Hals- und Beinbruch) โหดดีไหมล่ะ?

การอวยพรแบบบแก้เคล็ดนี้ ก็คงคล้ายๆกับที่บ้านเรา ที่บอกว่าเวลาเห็นเด็กทารกน่ารักอย่าไปชมว่าน่ารัก เพราะจะทำให้เวลาโตขึ้นมันจะน่าเกลียด ให้บอกว่า "น่าเกลียดน่าชัง" แทน โตไปมันจะน่ารัก  .. อันนี้ผมสันนิษฐานว่าแม่ผมคงลืมบอกเพื่อนๆ ..lol บางความเชื่อก็บอกว่าถ้าไปชมว่าน่ารักเดี๋ยวผีจะมาเอาตัวไปครับ อย่ามาถามที่มาที่ไป ผมไม่รู้หรอกครับ มันน่าจะหายากกว่าที่มาไปของความเชื่อแบบฝรั่งเสียอีก

เมื่อรู้ที่มาที่ไปแล้ว คราวนี่แหละ ถ้าใครบอกให้ผมโชคดีตอนจะขึ้นเวที ถ้าได้อ่านตรงนี้ช่วยเปลี่ยนเป็นแช่งให้ผมขาหักแแทนนะครับ อวยพรให้โชคดี เดี๋ยวมีโกรธ

จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ